วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

1.ประวัติกีฬาแฮนด์บอล

          กีฬาแฮนด์บอล มีที่มาจากประเทศเยอรมนี โดยนาย Konrad Koch ครูพละศึกษาคนหนึ่งแต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2447 (ค.ศ. 1904) กีฬาแฮนด์บอลก็ถูกพัฒนาขึ้นในทวีปยุโรป และกำหนดกติกาขึ้นโดยอ้างอิงจากกติกาของกีฬาฟุตบอลเป็นหลัก ซึ่งเป็นการดัดแปลงกีฬาฟุตบอลมาเล่นด้วยมือแทน เดิมใช้ผู้เล่นทีมละ 11 คน แต่ลดลงเหลือทีมละ 7 คนแทน เนื่องจากผู้เล่นมีจำนวนมากจนเกินไปทำให้เล่นไม่สะดวก จากนั้นจึงค่อย ๆ แพร่หลายเรื่อยมา

          ในปี พ.ศ. 2471 (ค.ศ. 1928) แฮนด์บอลถูกนำไปสาธิตในงานกีฬาโอลิมปิก และถูกบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในรายการการแข่งขันกีฬาระดับชาติเมื่อปี พ.ศ. 2474 (ค.ศ.1931) และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายจนถูกบรรจุเข้าเป็นชนิดกีฬาการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) ก่อนที่จะเจอกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 จนความนิยมลดลง

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) ก็ได้มีการแก้ไขกติกาแฮนด์บอลใหม่ ด้วยการนำเอากติกาของกีฬาฟุตบอล และกีฬาบาสเก็ตบอลมาผสมกัน เพื่อฟื้นฟูความนิยมกีฬาแฮนด์บอลให้กลับมาอีกครั้ง ปัจจุบันกีฬาแฮนด์บอลกลายเป็นกีฬาที่นิยมกันไปทั่วโลก

แฮนด์บอล

 2.ประวัติแฮนด์บอลในประเทศไทย


          หลังจากที่กีฬาแฮนด์บอลนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยก็เริ่มนำเอากีฬาแฮนด์บอลเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) โดย อาจารย์กอง วิสุทธารมย์ อดีตอธิบดีกรมพลศึกษาในขณะนั้น ซึ่งในตอนนั้นยังกติกาแฮนด์บอลยังต้องมีผู้เล่นทีมละ 11 คน  จึงทำให้ไม่สะดวก และไม่เป็นที่นิยมในไทยมากนัก

          จนกระทั่งปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) อาจารย์ชนิต คงมนต์ ได้บรรจุกีฬาแฮนด์บอลเข้าสอนในโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย และวิทยาลัยพลศึกษาอื่น ๆ ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ จนกลายเป็นหลักสูตรบังคับของชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเมื่อปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) และใช้กติกาการแข่งขันแบบสากลเมื่อปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) และเป็นที่นิยมในประเทศไทยในที่สุด

แฮนด์บอล

3.วิธีการเล่น

ใช้มือจับ ขว้าง โยน ลูกบอล ส่งต่อกันกับผู้เล่นในทีมตนเอง เพื่อขว้างบอลเข้าประตูฝ่ายตรงข้าม

-  ห้ามใช้ร่างกายส่วนที่ต่ำกว่าหัวเข่าลงไปโดนลูกบอล

-  ผู้เล่นสามารถถือลูกบอลไว้ในมือได้ไม่เกิน 3 วินาที

-  ขณะถือลูกบอลสามารถก้าวขาได้ไม่เกิน 3 ก้าว

-  ห้ามผู้เล่นดึงลูกบอลจากมือของฝ่ายตรงข้าม

-  ห้ามเข้าไปในเขตประตูของฝ่ายตรงข้าม

-  ใช้เวลาในการแข่งขันครึ่งละ 30 นาที พัก 10 นาที หากมีการต่อเวลาพิเศษจะเพิ่ม 2 ครึ่ง ครึ่งละ 5 นาที
 การคิดคะแนน
          หากสามารถขว้างบอลเข้าประตูฝั่งตรงข้ามได้จะคิดเป็น 1 คะแนนต่อ 1 ครั้ง หากมีการทำเข้าประตูตนเองก็จะเสียคะแนนให้กับฝ่ายตรงข้าม เมื่อหมดเวลาใครทำประตูได้มากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ